Saturday, August 31, 2013

เรียนรู้ภัยอันตรายของสารเคมีผ่าน MSDS

MSDS คืออะไร

MSDS (Material Safety Data Sheets) หรือ เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี หมายถึงเอกสารที่แสดงข้อมูลของสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับความอันตรายของสารเคมี, องค์ประกอบของสารเคมี, มาตรการการปฐมพยาบาลเมื่อสัมผัสกับสารเคมี ฯลฯ ซึ่งข้อมูลที่อยู่ใน MSDS ของสารเคมีประกอบด้วย 16 หัวข้อได้แก่
  1. ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีและบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายจะกล่าวถึง ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์, หมายเลขผลิตภัณฑ์ , ชื่อผลิตภัณฑ์ และ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิต/ผู้ส่ง
  2. องค์ประกอบ/ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของสารเคมีจะกล่าวถึงชื่อพ้องของสารเคมี, CAS Number, สูตรโมเลกุลของสารเคมี
  3. ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีจะกล่าวถึง ความเป็นอันตรายเมื่อสัมผัส หรือสูดดมสารเคมี
  4. มาตรการปฐมพยาบาลจะกล่าวถึง การรักษาพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัส หรือสูดดมสารเคมี
  5. มาตรการการผจญเพลิงจะกล่าวถึงสารที่ใช้ดับเพลิงในกรณีที่สารนั้นเกิดเพลิงไหม้
  6. มาตรการเมื่อมีอุบัติเหตุสารเคมีหกรั่วไหล จะกล่าวถึงวิธีการป้องกันในกรณีที่สารเคมีเกิดหกรั่วไหล
  7. ข้อปฏบัติการใช้สารและการเก็บรักษาจะกล่าวถึงวิธีการเก็บรักษาสารเคมีอย่างปลอดภัย
  8. การควบคุมการสัมผัสสาร/การป้องกันส่วนบุคคลจะกล่าวถึง อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่จำเป็นในการใช้ป้องกันจากการใช้สารเคมีชนิดนั้นๆ อาทิเช่น แว่นตา, หน้ากาก ฯลฯ
  9. สมบัติทางเคมีและกายภาพจะกล่าวถึงสมบัติทางกายภาพและทางเคมีต่างๆ ของสารเคมี อาทิเช่น ลักษณะ สี กลิ่น จุดเดือด จุดหลอมเหลว จุดติดไฟ เป็นต้น
  10. ความเสถียรและความว่องไวต่อปฏิกิริยา จะกล่าวถึงสภาวะหรือสารที่ต้องหลีกเลี่ยงในการใช้สารเคมีชนิดนั้นๆ
  11. ข้อมูลทางพิษวิทยาจะกล่าวถึง พิษเฉียบพลันและความเป็นพิษกึ่งเฉียบพลันเรื้อรังจากการใช้สารเคมีอาทิเช่น ค่า LD50, อันตรายจากการดูดดม หรือรับพิษเข้าสู่ร่างกาย
  12. ข้อมูลเชิงนิเวศน์จะกล่าวถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ เช่น ค่า LC50, การย่อยสลาย
  13. มาตรการการกำจัดจะกล่าวถึงวิธีการกำจัดสารเคมีที่เหมาะสม
  14. ข้อมูลการขนส่งจะกล่าวถึง การขนส่งสารเคมีในวิธีต่างๆ
  15. ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกำหนดและพระราชบัญญัติจะกล่าวถึงระเบียบการติดฉลากตามระบบต่างๆ
  16. ข้อมูลอื่นๆจะกล่าวถึงปัจจัยควบคุมเฉพาะในการใช้สารเคมี
โดยส่วนใหญ่เอกสารMSDS นี้จะต้องติดไปกับสารเคมีเพื่อใช้เป็นข้อมูลประจำตัวของสารเคมีในการใช้งานและประกอบการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นในการขอขึ้นทะเบียนโดยข้อมูลที่ใช้ในการค้นหา MSDS คือ ชื่อสารเคมี รหัสสารเคมี หมายเลข CAS หมายเลข UN/ID หรือสูตรเคมีของสารจากการสังเกตเนื้อหาข้างต้น เราจะพบว่ามีคำศัพท์เฉพาะทางที่ใช้กับ MSDS มากมาย เช่น CAS Number, UN/ID No, จุดวาบไฟ ฯลฯ ซึ่งคำศัพท์เหล่านั้นสามารถอธิบายได้ดังนี้ 
 
คำนิยามของคำชี้บ่งต่างๆ ที่ปรากฏใน MSDS
UN/ID No. เป็นรหัสตัวเลข 4 หลัก เพื่อชี้บ่งชนิดของสารเคมี (Identification Number) ที่ถูกกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และกรมการขนส่งแห่งสหรัฐอเมริกา(Department of Transportation ; DOT)
เช่น คลอรีน มีรหัส UN/ID No. คือ1017
แอมโมเนียแอนไฮดรัสมีรหัส UN/ID No. คือ 1005
ประโยชน์ของรหัส UN/ID NO. นอกจากใช้เป็นรหัสตัวเลขชี้บ่งชนิดของสารเคมีแล้วยังใช้เป็นรหัสสืบค้นขั้นตอนการปฏิบัติในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินจากระบบให้บริการข้อมูลการระงับอุบัติภัยจากสารเคมีอัตโนมัติทางโทรศัพท์หรือสายด่วน AVERS จากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษต่างๆ อาทิเช่น กรมควบคุมมลพิษทางโทรศัพท์หมายเลข1650 หรือ0 2298 2444 หรือสืบค้นจากEmergency Response Guidebook ของกรมการขนส่งแห่งสหรัฐอเมริกา (DOT) เช่น
UN/ID NO.
ชื่อสาร
AVERS Guide
DOT Guide
UN/ID 1017
คลอรีน
12
124
UN/ID 1005
แอมโมเนีย แอนไฮดรัส
07
125
CAS Number (Chemical Abstracts Service Registry Number) เป็นชุดตัวเลขที่กำหนดขึ้นโดย Chemical Abstracts Service of the American Chemical Society เพื่อใช้สำหรับชี้บ่งชนิดของสารเคมีอันตรายที่กำหนดในกฎหมายเรื่อง Toxic Substance Control Act (TSCA) โดยประกอบด้วยตัวเลข 3 กลุ่ม
· กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยตัวเลข 2-6 หลัก
· กลุ่มที่ 2 เป็นตัวเลข 2 หลักและ
· กลุ่มที่ 3 เป็นตัวเลข 1 หลักสำหรับตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลขทั้งชุด
IUPAC NAME คือ ชื่อที่ใช้เรียกสารเคมีชนิดต่างๆ ที่เป็นระบบสากล โดยชื่อสารเคมีจะถูกตั้งโดยองค์กร IUPAC (International Union of Pure and Applied Chemistry) เพื่อที่การเรียกชื่อของสารเคมีชนิดต่างๆ จะได้เป็นมาตรฐานระบบเดียวกันทั่วโลก
รหัส IMO (INTERNATIONAL MARINTIME ORGANIZATION) คือสัญลักษณ์รูปภาพที่ใช้เพื่อบอกความเป็นอันตรายของสารเคมี เช่น สารไวไฟ, สารเป็นพิษอันตรายถึงชีวิต ดังตัวอย่างต่อไปนี้
RTECS (The Registry of Toxic Effects of Chemical Substance) เป็นรหัสชี้บ่งชนิดของสารเคมีในฐานข้อมูลพิษวิทยา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลและปรับปรุงเพิ่มเติมโดย สถาบัน National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH) เพื่อให้ข้อมูลสอดคล้องกับ Occupational Safety and Health Act, Section 20 (a) (b) ประกอบด้วยข้อมูลพิษวิทยาของสารเคมีมากกว่า 130,000 ชนิด ซึ่งข้อมูลพิษวิทยาของสารเคมีแต่ละตัวประกอบด้วย อาการระคายเคืองเบื้องต้น การก่อกลายพันธุ์ (Mutagenic) ผลต่อระบบสืบพันธุ์ (Reproductive) การเกิดเนื้องอก (Tumorgenic) และพิษเฉียบพลัน (Acute Toxicity)
สถานะ (STATUS) ปกติสถานะของสารเคมีจะมีอยู่ 3 สถานะ คือ ของแข็ง (Solid) ของเหลว (Liquid) และก๊าซ (Gas) ซึ่งสถานะของสารเคมีมีผลต่อลักษณะการเกิดอันตราย เช่น
สถานะ
ลักษณะของสารเคมี
ลักษณะอันตราย
ของแข็ง
(Solid)
ผลึก เม็ด เกล็ด ผง ฝุ่น
สัมผัสถูกผิวหนัง ตา หายใจเข้าไป การกินเข้าไป
ของเหลว
(Liquid)
ของเหลว ก๊าซเหลว
สัมผัสถูก/กระเด็นใส่ผิวหนัง ตา
ก๊าซ
(Gas)
ก๊าซ ไอระเหย ละออง ควัน
หายใจเข้าไป สัมผัสถูกผิวหนัง ตา
จุดหลอมเหลวและจุดเดือด (MELTING AND BOILING POINT) คืออุณหภูมิที่ทำให้สารเคมีเปลี่ยนสถานะจากของแข็งหลอมเป็นของเหลว หรือของเหลวเดือดกลายเป็นก๊าซ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายสูงกว่าได้ เช่น กำมะถันปกติจะมีสถานะเป็นผลึก ของแข็ง หรือผง เมื่อให้ความร้อนสูงถึง 119 องศาเซลเซียส ก็จะหลอมละลายเป็นกำมะถันเหลว (Melted) S8 หรือ H2SO4 และจะเดือดกลายเป็นไอของ SO2 และ SO3 ที่อุณหภูมิสูงกว่า 444.6 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นอันตรายจากความเป็นพิษและฤทธิ์กัดกร่อนมากกว่าของเหลวและของแข็งตามลำดับ
ความถ่วงจำเพาะ (SPECIFIC GRAVITY) คือ น้ำหนักของของเหลวเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำที่ปริมาตรเท่ากัน (น้ำ = 1) ถ้าสารเคมีนั้นไม่ละลายน้ำ และมีค่าความถ่วงจำเพาะมากกว่า 1 สารเคมีนั้นก็จะจมน้ำแต่ถ้ามีค่าน้อยกว่า 1 สารเคมีนั้นจะลอยน้ำ
  • ข้อควรระวัง สารที่มีความถ่วงจำเพาะน้อยกว่า 1 จะลอยน้ำ ถ้าเป็นสารไวไฟ และไม่ละลายน้ำต้องระมัดระวังอันตรายจากการเกิดอัคคีภัย การระเบิดและเป็นพิษของไอระเหย แต่ถ้าสารที่มี ความถ่วงจำเพาะมากกว่า 1 จะจมน้ำต้องระมัดระวังการก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำได้
ความหนาแน่นไอ (VAPOR DENSITY) คือ น้ำหนักของไอระเหยหรือก๊าซเมื่อเทียบกับอากาศในปริมาตรที่เท่ากัน (อากาศ = 1) ถ้าความหนาแน่นมากกว่า 1 สารเคมีนั้นจะหนักกว่าอากาศและเกิดการสะสมในที่ต่ำหรือแพร่กระจายบนพื้น แต่ถ้าความหนาแน่นน้อยกว่า 1 สารเคมีนั้นเบากว่าอากาศก็จะลอยขึ้นที่สูง
  • ข้อสังเกต ความหนาแน่นไอมีประโยชน์ในการพิจารณาติดตั้งพัดลมระบายอากาศ การอพยพกรณีหกรั่วไหล เช่น หากมีการหกรั่วไหลของสารเคมีที่มีความหนาแน่นมากกว่า 1 ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ต่ำ บนพื้น หรือที่อับอากาศ เป็นต้น
สารเคมี
นน.
โมเลกุล
ความหนาแน่นไอ
เปรียบเทียบกับอากาศ
อากาศ (air)
29 (Avg)
1.00
ปกติ
ปกติ
คาร์บอนไดออกไซด์
44
1.52
หนักกว่าอากาศ
จะสะสมในที่ที่ต่ำ
ไฮโดรเจน 2 0.07 เบากว่าอากาศมาก จะลอยสู่บรรยากาศได้อย่างรวดเร็ว
มีเทน
16
0.55
เบากว่าอากาศ
จะลอยสู่บรรยากาศ
โพรเพน
44
1.52
หนักกว่าอากาศ
จะสะสมในที่ที่ต่ำ
VAPOR PRESSURE (ความดันไอ) คือ แนวโน้มของของแข็งหรือของเหลวที่จะระเหยกลายเป็นไอในอากาศ ซึ่งโดยปกติสารที่มีจุดเดือดต่ำจะมีค่าความดันไอสูง เพราะสามารถระเหยออกสู่บรรยากาศได้เร็วและก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้ง่าย และถ้าเก็บสารเคมีที่มีความดันไอสูงในภาชนะบรรจุปิดสนิทอาจเสี่ยงต่การเกิดระเบิดได้ง่ายเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น และในทางกลับกันสารเคมีที่มีจุดเดือดสูง จะมีค่าความดันไอต่ำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วค่าความดันไอมักจะแสดงอยุ่ในหน่วยมิลลิเมตรปรอท (mmHg) เช่น
สารเคมี
จุดเดือด ( °F)
ความดันไอ (มม.ปรอท)
Chlorine
-29
>760
Acetone
133
180
Xylene
269
9
Cadmiun
1409
~0
ความสามารถในการละลายน้ำได้ (SOLUBILITY) คือ น้ำหนักของสารเคมีที่สามารถละลายในน้ำได้ ต่อหน่วยปริมาตร (กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร) หรือเปรียบเทียบเป็นต่อร้อยละ (%) เช่น กลูโคส สามารถละลายน้ำได้ดีมากถึง 100 % ในขณะที่เมทธิลีนคลอไรด์ ละลายน้ำได้เพียง 2 % เท่านั้น
  • ข้อสังเกต ถ้าคุณสมบัติของสารเคมีที่ไม่ละลายน้ำเมื่อเกิดการหกรั่วไหลก็ต้องระมัดระวังว่าสารเคมีจะจมหรือลอยน้ำต่อไป สารเคมีที่ละลายน้ำได้ดีเมื่อเกิดการรั่วไหล อาจประยุกต์ใช้น้ำฉีดให้เป็นฝอยเพื่อลดการแพร่กระจายของไอระเหยได้ดีกว่า

No comments:

Post a Comment